อีกหนึ่งปัญหาหลังศัลยกรรมเสริมซิลิโคนที่สามารถเกิดขึ้นได้คือ พังผืดเกาะซิลิโคน ไม่ว่าจะเป็นการเสริมหน้าอก เสริมจมูก เสริมคาง เป็นต้น ซึ่งพบได้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้จากกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย แต่ในบางกรณีอาจพบพังผืดที่มีมากเกินไปจนดึงรั้งทำให้ซิลิโคนผิดรูปทรงหรือเกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมาได้เช่นกัน เพื่อช่วยคลายความสงสัยในข้อมูลนี้จะพาไปทำความเข้าใจว่าพังผืดคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร อันตรายไหม เกิดขึ้นบริเวณไหนได้บ้าง แก้ไขได้ไหม มีวิธีป้องกันอย่างไร ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้จากเนื้อหาต่อไปนี้จาก Vincent Clinic Plastic Surgery
Key Takeaways
- พังผืดเกาะซิลิโคน เป็นกลไกธรรมชาติที่ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อมาห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอม เช่น ซิลิโคนหลังศัลยกรรมเสริมหน้าอก เสริมจมูก หรือเสริมคาง
- หากพังผืดหดรั้งแน่นเกินไป อาจทำให้ซิลิโคนแข็ง เบี้ยว ผิดรูป เจ็บ หรือเคลื่อนไหวลำบาก
- สาเหตุของพังผืดเกาะซิลิโคน เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ขนาดซิลิโคนไม่เหมาะสม การวางตำแหน่งซิลิโคน เทคนิคผ่าตัดไม่ดี หรือการดูแลหลังทำไม่เคร่งครัด
- อาการสังเกตได้ เช่น หน้าอกแข็งผิดปกติ เจ็บเต้านม ทรงหน้าอกเปลี่ยน ยกแขนลำบาก หรือคาง/จมูกเบี้ยวหลังศัลยกรรม
- การป้องกันที่ดีในการเกิดพังผืดเกาะซิลิโคน ได้แก่ การนวดหน้าอก, เลือกซิลิโคนคุณภาพ, วางใต้กล้ามเนื้อ, ทำกับแพทย์ที่มีประสบการณ์ และดูแลตัวเองหลังทำอย่างเคร่งครัด
- การรักษาพังผืดเกาะซิลิโคนมีตั้งแต่นวดหน้าอก รับประทานยา ฉีดยาสลายพังผืด ไปจนถึงผ่าตัดเลาะพังผืดในกรณีรุนแรง
- พังผืดอาจเกิดซ้ำได้ จึงควรรับการประเมินกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อวางแผนแก้ไขให้เหมาะกับแต่ละบุคคล
พังผืดเกาะซิลิโคน คืออะไร?
พังผืดเกาะซิลิโคน คือภาวะที่ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ในที่นี้คือ ซิลิโคน โดยอาจทำให้รู้สึกแน่นตึง รูปทรงผิดปกติ หรือเกิดความแข็งบริเวณที่ทำศัลยกรรม หากพังผืดมีจำนวนมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ซิลิโคนแข็ง ซิลิโคนเบี้ยว หรือถูกดึงรั้งจนผิดรูปทรงได้
พังผืดเกาะซิลิโคนเกิดบริเวณไหนได้บ้าง?
สำหรับอาการพังผืดหลังผ่าตัด นอกจากบริเวณหน้าอกแล้วยังเกิดขึ้นได้ในหลายตำแหน่ง ซึ่งในแต่ละจุดมีอาการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น เทคนิคในการผ่าตัด ประสบการณ์ของแพทย์ ร่างกายของคนไข้ ตำแหน่งที่ทำ เป็นต้น โดยมีรายละเอียดของพังผืดที่เกิดขึ้นในแต่ละจุด ดังนี้
พังผืดหลังเสริมจมูก
สำหรับพังผืดบริเวณจมูกที่เกิดขึ้นหลังเสริมจมูก สามารถสังเกตได้จากการที่จมูกเอียงหรือเบี้ยว ผิวหนังบริเวณจมูกมีความแข็ง ผิวดูกระด้าง ไม่เรียบเนียน หากปล่อยทิ้งไว้มีโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาจมูกทะลุตามมาได้ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ซิลิโคนมีขนาดที่ไม่พอดีกับฐานจมูกเดิม เกิดการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด การดูแลตัวเองของคนไข้หลังทำ เทคนิคในการผ่าตัดของแพทย์ ซิลิโคนที่ใช้ไม่มีคุณภาพ เป็นต้น
การเลือกใช้ซิลิโคนเสริมจมูกที่มีคุณภาพสูง ซึ่งผ่านการรับรองจาก อย. และออกแบบมาให้เข้ากับสรีระจมูก จะช่วยลดโอกาสเกิดพังผืดหรือการอักเสบได้อย่างมาก ทั้งยังช่วยให้ผลลัพธ์หลังเสริมจมูกดูสวยกลมกลืนและปลอดภัยในระยะยาวอีกด้วย
พังผืดหลังเสริมคาง
ปัญหาพังผืดคางที่เกิดขึ้นจากการทำศัลยกรรมเสริมคาง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ซิลิโคนไม่ได้มาตรฐาน เลือกขนาดซิลิโคนไม่เหมาะสม ดูแลตัวเองหลังผ่าตัดได้ไม่ดี เทคนิคของแพทย์ที่ใช้ในการผ่าตัด แพทย์มีประสบการณ์น้อย เป็นต้น โดยมีอาการผิดปกติที่สามารถสังเกตได้เองเบื้องต้น เช่น ปวดเรื้อรังหรือรู้สึกชาถึงแม้แผลผ่าตัดจะหายแล้วและผ่านมาหลายเดือน มีอาการตึงมากกว่าปกติ คางผิดรูป คางเบี้ยวหรือเอียง เวลายิ้มแล้วคางแข็งไม่เป็นธรรมชาติ เมื่อสัมผัสบริเวณคางรู้สึกถึงความหนาแน่นของพังผืดใต้ผิวหนังที่มากกว่าปกติหรือคางมีความแข็งมากเกินไป เป็นต้น
ซึ่งการเลือกซิลิโคนคางที่มีคุณภาพสูง ถือเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันพังผืดได้ตั้งแต่ต้น โดยควรเลือกซิลิโคนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีความยืดหยุ่นสูง ผ่านการรับรองจาก อย. และออกแบบให้เข้ากับโครงหน้าอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ควรทำกับแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงในการวางซิลิโคนเสริมคาง เพื่อช่วยลดโอกาสที่พังผืดจะหดรั้งหรือดันให้คางเบี้ยวผิดรูปในภายหลัง
พังผืดหลังเสริมหน้าอก
พังผืดบริเวณหน้าอกที่เกิดขึ้นหลังผ่าตัด สามารถสังเกตได้เบื้องต้น เช่น หน้าอกแข็ง ทรงหน้าอกเบี้ยวผิดรูป หน้าอกยกขึ้นมากเกินไปหรือยกขึ้นไม่เท่ากัน มีอาการเจ็บบริเวณเต้านม ขยับแขนหรือยกแขนลำบาก คลำเจอก้อนแข็ง เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น ซิลิโคนเสริมหน้าอกมีขนาดใหญ่เกินไป เทคนิคในการผ่าตัดของแพทย์ไม่เหมาะสม วางซิลิโคนในตำแหน่งที่เกิดพังผืดได้ง่าย ซิลิโคนไม่ได้มาตรฐาน คนไข้ดูแลตัวเองหลังทำได้ไม่ดีหรือไม่ทำตามที่แพทย์แนะนำ เป็นต้น
พังผืดเกาะซิลิโคนหน้าอก เกิดได้อย่างไร?
พังผืดเกาะซิลิโคนหน้าอก ประกอบขึ้นมาจากคอลลาเจนที่มีความยืดหยุ่นและมีความแข็งแรงเกี่ยวพันกันหลายชั้น เพื่อรักษาและซ่อมแซมอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ รวมไปถึงห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยมีปัจจัยที่ทำให้เกิดพังผืดขึ้นได้หลายอย่างดังนี้
- ตำแหน่งในการวางซิลิโคนที่ไม่เหมาะสม สามารถทำให้เกิดพังผืดได้ง่ายและเยอะมากขึ้น
- ซิลิโคนหน้าอกใหญ่เกินไป มีผลทำให้เกิดพังผืดเกาะได้ง่ายขึ้น
- เทคนิคการผ่าตัดของแพทย์ หากเกิดอาการบวมช้ำ เนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บเยอะ สามารถเพิ่มโอกาสเกิดพังผืดได้มากขึ้น
- มีเลือดคั่งในหน้าอกเยอะจากการผ่าตัด หากแพทย์ทำความสะอาดไม่ดีพอหรือไม่มีเทคนิคการเดรนเลือดออกอย่างเหมาะสม เมื่อปล่อยทิ้งไว้สามารถทำให้เกิดเป็นพังผืดได้ในอนาคต
- ใช้ซิลิโคนที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการรับรองจาก อย. ผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ไม่มีคุณภาพ จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดอาการผิดปกติได้มากยิ่งขึ้น
- ซิลิโคนผิวเรียบ ซึ่งมีโอกาสเกิดพังผืดได้ง่ายกว่าแบบผิวทรายและผิวนาโน
- ละเลยการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด ไม่ทำตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดพังผืด เช่น ไม่ยอมนวดตามที่แพทย์สั่งหรือนวดไม่ครบตามกำหนด ดูแลแผลผ่าตัดไม่ดีจนเกิดการอักเสบติดเชื้อขึ้น เป็นต้น
- พฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ไม่ยอมงดอาหารแสลง เป็นต้น
อาการของพังผืดเกาะซิลิโคน
สำหรับอาการพังผืดหลังเสริมหน้าอกมีด้วยกันหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ปัจจัยส่วนตัวต่าง ๆ ตำแหน่งที่เกิดพังผืดขึ้น เป็นต้น โดยมีอาการที่สามารถพบได้ ดังนี้
- อาการหน้าอกแข็ง หากมีพังผืดห่อหุ้มซิลิโคนหนาแน่นมากเกินไป จะทำให้บริเวณเต้านมแข็งและแน่นมากขึ้นกว่าปกติ ไม่นิ่มเหมือนหน้าอกธรรมชาติ
- อาการเจ็บเต้านม เกิดจากพังผืดที่หนาแน่นและหดรั้งแน่นมากขึ้นจนทำให้เกิดอาการเจ็บหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก สามารถเกิดขึ้นได้เวลาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือมีการสัมผัส
- หน้าอกผิดรูปทรง หากมีพังผืดที่ดึงรั้งหรือบีบรัดซิลิโคนแน่นมากเกินไปจะทำให้รูปทรงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น หน้าอกเบี้ยว หน้าอกยกขึ้นสูงไม่เท่ากัน ซิลิโคนเอียง เป็นต้น
- เคลื่อนไหวลำบาก เกิดขึ้นจากการที่พังผืดเกาะหนาและหดตัวจนทำให้เกิดความตึงของเนื้อเยื่อโดยรอบซิลิโคน อาจส่งผลให้เวลาที่ขยับแขนหรือยกแขนทำได้ลำบากกว่าปกติ
วิธีป้องกันพังผืดเกาะซิลิโคน
สำหรับพังผืดเกาะซิลิโคนหลังเสริมหน้าอก ไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดโอกาสการเกิดพังผืดให้น้อยลงหรือบรรเทาอาการให้ลดลงได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- นวดหน้าอก หลังผ่าตัดเสริมหน้าอกควรนวดหน้าอกตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้พังผืดที่เกาะบริเวณซิลิโคนมีความนิ่มมากขึ้น ลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดพังผืดให้น้อยลง
- วางซิลิโคนในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยเทคนิคในการวางซิลิโคนที่ช่วยลดโอกาสเกิดพังผืด คือ การวางใต้กล้ามเนื้อ ลดโอกาสเกิดพังผืดได้มากกว่าการวางเหนือกล้ามเนื้อ
- เลือกใช้ซิลิโคนที่มีคุณภาพ ซึ่งถูกผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยลดโอกาสเกิดพังผืดให้น้อยลงได้ และต้องเป็นซิลิโคนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย.
- ดูแลตัวเองหลังผ่าตัด ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสเกิดปัญหาให้น้อยลง ช่วยให้แผลหายไว หน้าอกเข้าที่เร็วขึ้น
- เลือกทำกับแพทย์ที่มีประสบการณ์ เพราะแพทย์จะมีความคุ้นเคยกับเทคนิคการผ่าตัด เข้าใจสรีระโครงสร้างของหน้าอก สามารถเลือกซิลิโคนและวางตำแหน่งได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดพังผืด
การรักษาพังผืดเกาะซิลิโคน
วิธีรักษาพังผืดทรวงอก มีด้วยกันหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละวิธีมีความเหมาะสมและแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- การนวดหน้าอก เป็นวิธีการแก้ปัญหาในช่วงเริ่มแรกหลังผ่าตัด เพื่อช่วยลดการเกิดพังผืดให้น้อยลง พังผืดที่เกิดขึ้นมามีความนิ่มมากขึ้น ไม่แข็งหรือหดรั้งจนทำให้หน้าอกแข็ง
- รับประทานยาต้านการอักเสบ มักใช้กับพังผืดที่เกิดจากอาการอักเสบ ซึ่งอาจจะต้องใช้ควบคู่ไปกับวิธีการอื่น ๆ
- ฉีดยาสลายพังผืด เป็นวิธีที่เหมาะกับการรักษาเฉพาะจุดเล็ก ๆ เป็นฉีดยาเข้าไปในบริเวณที่ต้องการรักษาโดยตรง แต่อาจมีผลข้างเคียงตามมา เช่น อาการปวด บวมแดง ระคายเคือง เป็นต้น
- ผ่าตัดเลาะพังผืด ในกรณีของคนที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง มีพังผืดหนาและแข็ง จนทำให้เกิดซิลิโคนผิดรูป เจ็บบริเวณหน้าอก เป็นต้น
พังผืดเกาะซิลิโคน อันตรายไหม?
แม้ว่าอาการพังผืดเกาะซิลิโคน จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติหลังทำศัลยกรรม ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ป้องกันหรือไม่มีการดูแลที่เหมาะสม จะทำให้ลุกลามจนเกิดความผิดปกติมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย เช่น อักเสบติดเชื้อ อาการเจ็บเรื้อรัง ซิลิโคนผิดรูปทรง ซิลิโคนเอียงหรือเบี้ยว เป็นต้น จึงควรดูแลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต
คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับ พังผืดเกาะซิลิโคน
สำหรับใครที่มีความสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อาการพังผืดหลังผ่าตัด นอกเหนือจากเนื้อหาที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ในบทความนี้จึงได้รวบรวมเอาส่วนหนึ่งของคำถามที่พบได้บ่อยเอาไว้ให้เป็นข้อมูลในการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
Q : พังผืดเกาะซิลิโคนเกิดได้ตั้งแต่ช่วงไหนหลังผ่าตัด?
A : ระยะเวลาในการเกิดพังผืดสามารถก่อตัวขึ้นได้ตั้งแต่ช่วง 1 – 3 เดือนแรกหลังผ่าตัด ซึ่งหากดูแลตัวเองได้ดีมากพอก็จะไม่เกิดปัญหาหรืออาการผิดปกติ ในกรณีของคนที่ไม่ได้ดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดตามที่แพทย์แนะนำ เมื่อผ่านไปประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี จะเริ่มแสดงอาการและเห็นความผิดปกติที่ชัดเจนได้
Q : พังผืดเกิดกับซิลิโคนทุกประเภทหรือไม่?
A : ตามกลไกของร่างกายเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายจะมีการสร้างพังผืดขึ้นมาห่อหุ้มอยู่แล้ว แต่ถ้าซิลิโคนที่ใช้มีผิวเรียบจะยิ่งเพิ่มโอกาสเกิดพังผืดได้มากกว่าซิลิโคนที่ผิวเป็นแบบเนื้อทราย
Q : ปัญหาซิลิโคนเบี้ยวแต่ไม่เจ็บ เกิดจากพังผืดหรือไม่?
A : ปัญหาซิลิโคนเบี้ยวไม่ได้เกิดขึ้นจากพังผืดดึงรั้งเสมอไป ในบางกรณีเกิดขึ้นจากการที่แพทย์วางซิลิโคนในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากการที่ซิลิโคนเคลื่อนตัวไปในตำแหน่งอื่นจากการที่ถูกกระทบกระเทือน เป็นต้น แนะนำให้เข้าประเมินกับแพทย์โดยตรง
Q : พังผืดสามารถหายเองได้ไหม?
A : สำหรับพังผืดที่เกิดขึ้นมาแล้วจะไม่สลายไปถ้าไม่ได้รับการรักษา ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยหลายวิธี ทั้งการใช้ยาหรือการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของปัญหาแต่ละคนที่แตกต่างกัน
Q : หากเคยผ่าตัดรักษาพังผืดไปแล้ว จะเกิดขึ้นซ้ำได้อีกไหม?
A : มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้อีก เนื่องจากการเกิดพังผืดคือหนึ่งในกระบวนการรักษาและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ หากต้องการลดโอกาสเกิดให้น้อยลงหรือบรรเทาความรุนแรงของพังผืด จะต้องอาศัยการดูแลตัวเองของคนไข้หลังทำ เทคนิคการผ่าตัดของแพทย์ เป็นต้น
Q : หากไม่ต้องการใส่ซิลิโคนใหม่หลังขูดพังผืด ทำได้ไหม?
A : หลังผ่าตัดเลาะพังผืดแล้ว หากไม่ต้องการเปลี่ยนซิลิโคนหน้าอกใหม่หรือไม่ต้องการใส่ซิลิโคนกลับเข้าไปที่หน้าอกแล้ว สามารถทำได้ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหากทำเช่นนี้ผลลัพธ์ที่ได้อาจทำให้หน้าอกไม่เท่ากัน ขนาดหน้าอกเล็กลง หน้าอกหย่อนยานไม่กระชับเพราะผิวหนังเคยยืดออกเนื่องจากการใส่ซิลิโคน เป็นต้น
Q : พังผืดเกี่ยวข้องกับการแพ้ซิลิโคนหรือไม่?
A : โดยปกติการเกิดพังผืดเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่ จึงไม่เกี่ยวกับอาการแพ้ซิลิโคน
Q : ซิลิโคนเหลวที่เคยฉีดไว้ ทำให้เกิดพังผืดได้ไหม?
A : ซิลิโคนเหลวเป็นสารที่ไม่สามารถสลายไปได้เองตามธรรมชาติ ไม่มีการรับรองความปลอดภัยจาก อย. เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายสามารถทำให้เกิดเป็นพังผืดห่อหุ้มตัวสารเหลวเอาไว้จนเกิดเป็นก้อนแข็งขึ้น นอกจากนั้นอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการอักเสบติดเชื้อ ผิวหนังผิดรูปทรงได้
สรุป
พังผืดเกาะซิลิโคน อีกหนึ่งปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่ผ่านการทำศัลยกรรม ซึ่งความรุนแรงและอาการก็จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับ ร่างกายของคนไข้ ตำแหน่งที่ทำ ซิลิโคนที่ใช้ เทคนิคการผ่าตัด การดูแลตัวเองหลังทำของคนไข้ และประสบการณ์ของแพทย์ผู้ผ่าตัด เป็นต้น หากเกิดปัญหาที่รุนแรงขึ้นก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเลาะพังผืดออก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาหลังผ่าตัด จึงต้องศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วนถูกต้องก่อนทำ สำหรับใครที่อยากเสริมหน้าอกครั้งแรกหรือเสริมหน้าอกมาแล้วมีปัญหาอยากแก้ไข สามารถเข้ามาปรึกษาทีมแพทย์ผู้มีประสบการณ์ของ Vincent Clinic Plastic Surgery เพื่อรับการประเมินปัญหาที่แม่นยำและออกแบบการรักษาเฉพาะรายบุคคล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ออกมาดี มีความปลอดภัย แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และตอบโจทย์ความต้องการของคนไข้แต่ละคนได้อย่างครอบคลุม