หัวนมบอด ปัญหากวนใจของใครหลายคนบั่นทอนทั้งความมั่นใจ ทำให้สรีระดูไม่สวยงาม ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เป็นปัญหาที่มาจากสาเหตุที่หลากหลายด้วยกัน เพื่อช่วยไขข้อข้องใจของหลาย ๆ คนว่าอาการนี้คืออะไร เกิดขึ้นจากปัจจัยอะไรบ้าง มีวิธีแก้ไขอย่างไร หากเกิดปัญหาขึ้นแล้วจะมีผลข้างเคียงหรือเกิดอันตรายกับสุขภาพไหม แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมจากบทความนี้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับคนที่ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี
หัวนมบอด คืออะไร?
หัวนมบอด (Inverted nipple) คือ ลักษณะของหัวนมที่แบนหรือยุบเข้าไปด้านใน ไม่โผล่ออกมาเหมือนหัวนมปกติ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งสองข้างหรืออาจจะเป็นเพียงข้างเดียวก็ได้ เนื่องจากถูกพังผืดดึงรั้งหัวนมให้ยุบเข้าไปด้านในรวมไปถึงเนื้อเยื่อบริเวณหัวนมมีไม่พอจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ทำให้ขาดความมั่นใจ รวมไปถึงหากเป็นในระดับที่รุนแรงอาจจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ชีวิตในอนาคต
หัวนมบอด เกิดจากอะไร? มีกี่แบบ?
ปัญหาหัวนมบอด เกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีทั้งแบบเป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือแบบที่เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละรายบุคคล แต่มักจะมีสาเหตุมาจากเนื้อเยื่อที่หัวนมไม่เพียงพอหรือมีพังผืดดึงรั้งทำให้หัวนมยุบเข้าไปด้านใน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ปัญหาหัวนมบอดตั้งแต่กำเนิด
ในกรณีนี้จะเกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อบริเวณหัวนมที่มีน้อย มีลักษณะของท่อน้ำนมที่สั้นกว่าปกติ ท่อน้ำนมหดรั้งเข้าไปด้านใน มักจะเกิดขึ้นกับทั้งสองข้าง
ปัญหาหัวนมบอดภายหลัง
ในกรณีนี้อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดหน้าอกแล้วทำให้เกิดแผลบริเวณหัวนม ปัจจัยจากการให้นมบุตรไม่ถูกวิธีของคุณแม่หลังคลอด รวมไปถึงผลข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นจากมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน
ระดับความรุนแรงของ หัวนมบอด
หัวนมบอด มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับต้นเหตุของแต่ละรายบุคคลที่มีความแตกต่างกันออกไป มีทั้งระดับที่ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นถาวรและระดับที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นเพียงชั่วคราว โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- ระดับแรก ในขั้นนี้หลายคนอาจจะเรียกว่า หัวนมสั้น เพราะลักษณะของหัวนมที่มีการยุบตัวเพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อถูกกระตุ้นหรือจากสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น อากาศหนาว เกิดความรู้สึกทางเพศ หรือตอนให้นมบุตร เป็นต้น นอจกากนั้นยังสามารถใช้มือดึงเพื่อให้โผล่ออกมาได้อีกด้วย วิธีการแก้ไขสามารถทำได้ด้วยการดึงบ่อย ๆ หรือใช้อุปกรณ์สุญญากาศช่วยได้
- ระดับปานกลาง หัวนมจะยุบเข้าไปด้านในค่อนข้างลึกแต่สามารถใช้มือหรืออุปกรณ์ช่วยดึงออกมาได้แต่ค่อนข้างยาก เมื่อดึงออกมาได้ไม่นานก็จะยุบกลับเข้าไปเช่นเดิม ในบางรายที่ท่อน้ำนมหดรั้งอาจจะส่งผลกับการให้นมบุตรไม่สามารถทำได้
- ระดับรุนแรง ในขั้นนี้หัวนมจะยุบเข้าไปด้านในทั้งหมด ไม่สามารถใช้วิธีการดึงหรือกระตุ้นด้วยปัจจัยอื่น ๆ ให้หัวนมกลับออกมาได้ เป็นหัวนมบอดแบบถาวร ต้องใช้การผ่าตัดเข้าช่วยรักษาจึงจะกลับมาเป็นปกติได้
หัวนมบอด อันตรายไหม?
หัวนมบอด เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณหัวนมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งสองข้างหรืออาจจะข้างเดียวแล้วแต่ร่างกายของแต่ละคนที่แตกต่างกัน พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายซึ่งไม่ได้เป็นอันตรายกับสุขภาพแต่อาจจะส่งผลกระทบกับความมั่นใจ รูปลักษณ์ความสวยงาม และอาจจะทำให้การใชดชีวิตลำบากได้ในกรณีของคุณแม่หลังคลอดที่ต้องการให้นมบุตร เพราะหากเกิดปัญหาในระดับที่รุนแรงซึ่งมีภาวะที่ท่อน้ำนมหดรั้งเข้าไปข้างในทำให้ไม่สามารถให้นมบุตรได้
ในกรณีของผู้หยิงที่มีภาวะหัวนมบอดขั้นรุนแรง บริเวณหัวนมที่ยุบเข้าไปด้านในจะเกิดเป็นรูขึ้นทำให้ต้องหมั่นทำความสะอาด หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ดูแลอาจเกิดการติดเชื้อส่งผลทำให้เกิดอาการคัน นอกจากนั้นการที่หัวนมมีการยุบหรือบุ๋มเข้าไปด้านในทำให้ไม่สามารถสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของมะเร็งบริเวณหัวนมได้ แนะนำให้เข้ามารับการผ่าตัดแก้ไขหัวนมให้กลับมาเป็นปกติเพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจและลดโอกาสเสี่ยงอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แก้หัวนมบอด ทำอย่างไรได้บ้าง?
วิธีแก้หัวนมบอด สามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดซึ่งสามารถช่วยปรับรูปทรงและจัดการปัญหาภายในที่ให้หัวนมกลับออกมาอยู่ด้านนอก โดยแพทย์จะรักษาระบบประสาทรวมถึงท่อน้ำนมไว้ให้สำหรับคนที่วางแพลนจะมีบุตรในอนาคต โดยวิธีการแก้ไขมีด้วยกัน ดังนี้
- ผ่าตัดบริเวณฐานหัวนม เพื่อเข้าไปเลาะพังผืดที่ดึงรั้งหัวนมเอาไว้ รวมไปถึงดึงท่อน้ำนมให้เข้าสู่ตำแหน่งปกติ และทำการเย็บฐานหัวนมให้เล็กลง และป้องกันไม่ให้หัวนมยุบกลับลงไปอีก
- ผ่าตัดบริเวณกลางหัวนม โดยแพทย์จะกรีดเข้าไปที่บริเวณกลางหัวนมและตัดพังผืดที่รั้งหัวนมออก รวมไปถึงจัดการท่อน้ำนมให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งปกติ เมื่อจัดการโครงสร้างภายในเรียบร้อยแล้วจึงเย็บปิดแผลเพื่อป้องกันหัวนมยุบกลับเข้าไปด้านในอีกครั้ง
เตรียมตัวก่อนแก้หัวนมบอด
เพื่อให้การแก้หัวนมบอด เป็นไปได้ด้วยดี ไม่เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมา แนะนำให้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้ารับบริการ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดหรือผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยมีวิธีเตรียมตัวดังนี้
- หากมีโรคประจำตัวหรือมีประวัติแพ้ยา มียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนผ่าตัดทุกครั้ง
- งดรับประทานอาหารเสริม วิตามิน หรือยา ที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เช่น แอสไพริน วิตามินซี โสม หรือ NSAIDs เป็นต้น
- 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับบริการ ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
- ในกรณีของคนที่ผ่าตัดยกกระชับทรวงอกหรือเสริมหน้าอกร่วมด้วย ควรงดอาหารและน้ำก่อนผ่าตัด 8 ชั่วโมง ตามแพทย์สั่ง
- ควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ใส่สบาย ถอดง่าย ไม่คับหรือรัดแน่นมากเกินไป โดยสามารถเลือกใส่เป็นเสื้อที่มีกระดุมด้านหน้าได้เช่นกัน
- ไม่แนะนำให้ขับรถกลับเอง ควรพาญาติหรือคนสนิทมาด้วยเพื่อพากลับบ้าน
หลังผ่าตัดแก้หัวนมบอด ควรดูแลตัวเองอย่างไร?
ดูแลตัวเองหลังแก้หัวนมบอด เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้ผลการรักษาออกมาดีและช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาตามมาหลังผ่าตัด โดยมีวิธีดูแลตัวเองดังนี้
- หากมีอาการบวมหลังผ่าตัด สามารถใช้วิธีประคบเย็นรอบแผลผ่าตัดเพื่อช่วยบรรเทาอาการบวมให้ลดลงเร็วขึ้น
- หลังผ่าตัดในช่วง 2 – 3 วันแรก ห้ามให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและช่วยให้แผลปิดสนิทได้ไวขึ้น
- อาจมีเลือดซึมออกมาหลังผ่าตัดได้บ้างเล็กน้อย แนะนำให้ใช้ผ้าก๊อซซับเลือดได้
- งดนอนคว่ำและควรสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ใส่สบาย ไม่รัดแน่น ในช่วงแรกหลังทำ
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่หลังผ่าตัดประมาณ 1 เดือน
- งดอาหารหมักดอง อาหารทะเล หรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เพื่อลดโอกาสการอักเสบติดเชื้อให้น้อยลง ในช่วงแรกหลังผ่าตัด
- ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
สรุป
หัวนมบอด เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งทำให้เกิดความกังวลใจ ไม่มั่นใจ และอาจรบกวนการใช้ชีวิตได้ โดยเฉพาะในคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรเพราะการที่หัวนมยุบเข้าไปด้านในจะทำให้ไม่สามารถให้นมลูกได้ ในกรณีที่มีปัญหาในระดับขั้นรุนแรงต้องทำการแก้ไขด้วยการผ่าตัด สำหรับใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับหน้าอก อยากเพิ่มขนาด ปรับรูปทรง หรือยกกระชับทรวงอก แนะนำให้เข้ามาปรึกษาทีมแพทย์มากประสบการณ์ของ Vincent Clinic ได้เลย เพื่อให้แพทย์ช่วยประเมินปัญหา วิเคราะสรีระ และออกแบบการรักษาที่เหมาะกับคนไข้แต่ละคนที่ต่างกันออกไป